ท่ามกลางความโศกเศร้าที่ยังคงหลงเหลืออยู่กับพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ และเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเมรุมาศ” นั่นเอง พระเมรุมาศสำหรับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ได้รับการออกแบบและรับผิดชอบโดยกรมศิลปากร ส่วนความคืบหน้าของการออกแบบนั้นก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาออกแบบเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งแบบดังกล่าวเป็นแบบที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวินิจฉัยแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยว่าการออกแบบนั้นได้ยึดหลักแนวคิด 3 ข้อ ดังนี้

  1. ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ
  2. ออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
  3. ออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมติเทพ ตามระบอบเทวนิยม

จากแบบที่เผยออกมานั้น พระเมรุมาศจะเป็นรูปทรงบุษบก 9 ยอด ส่วนสถาปัตยกรรมที่ใช้สร้างอาคาร จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

  1. กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ ซึ่งเป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สูง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูง มี 7 ชั้น ชั้นบนที่มุมทั้งสี่ประกอบด้วยซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน

    พระที่นั่งทรงธรรม เป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี และเป็นที่เข้าเฝ้าสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ มีพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธีประมาณ 2,800 ที่นั่ง และศาลาลูกขุน เป็นที่เข้าเฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตร ที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม และทิมสำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและเป็นห้องสุขา

  1. กลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ เกยลา บริเวณกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และพลับพลายกหน้ามณฑลพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งการออกแบบภูมิทัศน์ ใช้เรื่องราวพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาเป็นข้อมูลในการคิดออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนของพื้นที่รอบมณฑลพิธี โดยรอบพระเมรุมาศมีการสร้างสระน้ำทั้ง 4 มุม และได้จำลอง กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริอีกด้วย ในส่วนของงานศิลปกรรมหรือประติมากรรมที่ประกอบพระเมรุมาศทั้งหมดจะสะท้อนระบบจักรวาลเรื่องเขาพระสุเมรุ ชั้นครุฑ ชั้นเทพเทวดา รวมไปถึงสัตว์หิมพานต์ และส่วนเสาจะใช้แบบครุฑทั้งหมด มาจากความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพซึ่งสถิตอยู่บนเขาพระสุเมรุและได้จุติลงมาเกิดยังมนุษย์โลกเป็นสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนปริมณฑลพิธีที่จำลองเขาพระสุเมรุเพื่อเป็นการส่งพระวิญญาณกลับสู่เขาพระสุเมรุดังเดิม

ตามโบราณราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา การสร้างพระเมรุมาศนั้นจะมีความยิ่งใหญ่โอฬารมาก สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า การสร้างพระเมรุมาศถือเป็นความมั่นคงของประเทศ เพราะพระเมรุมาศของรัชกาลใดยิ่งใหญ่ กิตติศัพท์ยิ่งเลื่องลือ ประกาศให้รับรู้ว่าบ้านเมืองรัชกาลนั้นเข้มแข็ง ต่อมาในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมก่อสร้าง ได้ลดและตัดทอนบางส่วน เนื่องจากเป็นยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในเวลานั้น ทรงมีพระราชดำริที่จะไม่ก่อสร้างพระเมรุมาศยิ่งใหญ่เช่นแต่ก่อน

ดังจะเห็นความแตกต่างของพระเมรุมาศอย่างชัดเจนในยุคก่อนและหลังรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างเช่น พระเมรุมาศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ตามแบบโบราณราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระเมรุมาศองค์สุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ส่วนพระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) นั้นไม่ได้สร้างเขาพระสุเมรุตามแบบเดิม แต่เปลี่ยนมาก่อสร้างพระเมรุมาศบนพื้นราบ เป็นทรงบุษบกแวดล้อมด้วยเมรุราย 4 ทิศ ค่อยๆ ลดรูปเป็นคดซ่าง ระเบียง ทับเกษตร อย่างไรก็ตามพระเมรุมาศทรงบุษบกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นพระเมรุมาศแบบใหม่องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นต้นแบบพระเมรุมาศงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสืบมาทุกพระองค์

 


Warning: call_user_func_array() expects parameter 1 to be a valid callback, function 'replace_billing_time_with_dropdown' not found or invalid function name in /var/www/html/wp-includes/class-wp-hook.php on line 324