วัฒนธรรมถือเป็นมรดกตกทอดที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย วิถีชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือเทคโนโลยีอยู่เสมอ ธรรมเนียมปฏิบัติและวัฒนธรรมเกี่ยวกับงานศพเองก็เคยผ่านเหตุการณ์การเปลี่ยนผ่านมาหลายครั้ง หลายหน โดยเหตุการณ์สำคัญที่ หรีดมาลา นำมาเล่าวันนี้คือการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมที่เกิดจาก “พวงหรีด

บรรยากาศงานศพที่มีพวงหรีดมาวาง

จากการทิ้งศพไว้ในป่าเรื่อยมาจนถึงการทำพิธีฝังศพไว้กับสิ่งของเครื่องใช้ มนุษย์ในเอเชียอาคเนย์มีการปรับตัวในเรื่องพิธีศพที่ละเอียดมากขึ้น หลังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้สังคมพัฒนาตนเองมีระบบการปกครอง และเริ่มจัดการพิธีศพด้วยการเผา

โดยพิธีกรรมงานศพในอดีตของคนไทยนั้นมีความเชื่อว่า คนตายนั้นเกิดจากขวัญหลุดออกจากร่าง จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับร่าง ซึ่งจำเป็นต้องจัดงานมหรสพ งานรื่นเริงเสียงดังหลายวัน เพื่อให้ขวัญที่หลงทางนั้นกลับมาเข้าร่างได้ถูกต้อง จากงานรื่นเริงในงานศพทำให้คนในอดีตนิยมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด เพื่อมาร่วมงานรื่นเริงเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ที่รับธรรมเนียมแต่งดำจากชาติตะวันตกเข้ามาในประเทศสยาม

พวงหรีดเข้ามาในสยาม

จากการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ธรรมเนียมการแสดงความเสียใจแด่ผู้ตายมีการเปลี่ยนครั้งใหญ่จากเดิมที่คนไทยนิยมใช้ดอกไม้อย่างดอกซ่อนกลิ่นที่มีสีขาว ส่งกลิ่นหอมอบอวลและยังเป็นดอกไม้ที่หาได้ง่ายตามบ้านเรือนอยู่แล้วประกบคู่กับ ธูป เทียน มาเป็นพวงหรีดดอกไม้ตามธรรมเนียมจากต่างถิ่น ซึ่งนักวิชาการและบทความจากวารสารศิลปะ-วัฒนธรรมคาดว่าน่าจะเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่สยามเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติมากขึ้น

แต่ด้วยความที่เป็น “ของนอก” ทำให้ในช่วงแรกพวงหรีดมักจะถูกใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงหรือกษัตริย์มากกว่า โดยหลักฐานที่ปรากฏว่าในงานพระบรมศพของพ่อหลวงรัชกาลที่ 5 ปรากฏภาพพวงหรีดสำหรับเป็นเครื่องสักการะพระบรมศพแขวนไว้ด้านซ้ายของพระบรมโกศ ซึ่งพวงหรีดประกอบด้วยดอกบานไม่รู้โรยย้อมสีและเย็บเป็นอักษรพระนาม จปร. (ศิลปะ-วัฒนธรรม, 20 พ.ย.2563) ส่วนด้านนอกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการนำพวงหรีดดอกไม้แห้งมาตั้งวางไว้

งานพระศพในรัชกาลที่ 5

เหตุผลหนึ่งที่ชาวสยามเริ่มหันมาใช้พวงหรีดดอกไม้แห้งกัน เนื่องมาจากในสมัยก่อนงานศพของชนชั้นสูงมักจะจัดติดต่อกันหลายวัน ทำให้ดอกไม้สดอย่าง ดอกกุหลาบ ดอกกล้วยไม้ ดอกเบญจมาศ และดอกหน้าวัวเน่าเสียก่อนจบงาน จึงเริ่มมีความคิดนำดอกไม้ประดิษฐ์มาประดับตกแต่ง ก่อนที่จะนำดอกไม้แห้งเข้ามาแทนที่ทั้งหมด

จากบันทึกเกี่ยวกับพวงหรีดในสมัยรัชกาลที่ 8 ของเสฐียรโกเศศบันทึกไว้ว่า “…เวลานี้หาซื้อพวงหรีดดอกไม้ปลอมได้ง่าย ราคาก็ถูกกว่า ไม่ต้องเสียเวลาทำ เก็บเอาไว้ได้นานกว่า เห็นมีพวงหรีดชนิดนี้หนาตา พวงหรีดสดชักจะบางตาไป ต่อมาไม่ช้าคงเป็นพวงหรีดแห้งกันหมด” ( ศิลปะ-วัฒนธรรม, 20 พ.ย. 2563) เป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยมดอกไม้ประดิษฐ์ในเมืองไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น

พวงหรีดดอกไม้สดหลากหลายสีสัน

จากความนิยมในชั้นสูงเริ่มส่งต่อมา พวงหรีดเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น ประกอบกับดอกไม้ใช้ประดับพวงหรีดเริ่มมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น รวมถึงงานศพของสามัญชนนั้นใช้เวลาไม่นานมากนัก จึงทำให้พวงหรีดดอกไม้สดกลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเรื่องของสีสันและความสดชื่นของดอกไม้

จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของพวงหรีดทำให้ธรรมเนียมดั้งเดิมของไทยที่นิยมใช้ ดอกซ่อนกลิ่น ธูป เทียน นั้นถูกลดความนิยมลงไปจนแทบไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย นอกจากเป็น “ของนอก” แล้ว รูปแบบดั้งเดิมมีข้อสังเกตในเรื่องความสวยงามของงาน เพราะด้วยที่ต่างคนต่างนำมาจากบ้านตนเองทำให้ขนาดของแต่ละกำและชนิดดอกไม้แตกต่างกันไป กลายเป็นภาพที่ไม่สวยงามเมื่อเทียบพวงหรีดที่มีขนาดและรูปร่างที่ไม่ต่างกันมากนัก ช่วยสร้างความสวยงาม เป็นระเบียบมากกว่า ขณะเดียวกันพวงหรีดเป็นตัวสะท้อนถึงฐานะและความกว้างขวางของผู้ตายหรือครอบครัวได้เป็นอย่างดี

เป็นความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับพวงหรีดที่ “หรีดมาลา” นำมาเล่าสู่กันฟังถึงอิทธิพลที่พวงหรีดจากต่างแดนเข้ามาปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับงานศพของคนไทยไปมากทีเดียว สำหรับใครที่จำเป็นต้องใช้พวงหรีดเพื่อส่งความอาลัยให้กับคนสำคัญ สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์ของหรีดมาลาพร้อมบริการส่งพวงหรีดทั่วไทย

เอกสารอ้างอิง

วารสารศิลปะ-วัฒนธรรม, 20พ.ย.2563

เว็บไซต์ medium

หนังสือกระแสวัฒนธรรม , พวงหรีด : วัฒนธรรมตะวันตกที่งอกงามในประเพณีไทย, หน้า 80,โดย Rujirapha Ngamsakoo

 งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์  โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


Warning: call_user_func_array() expects parameter 1 to be a valid callback, function 'replace_billing_time_with_dropdown' not found or invalid function name in /var/www/html/wp-includes/class-wp-hook.php on line 324