Credit by: https://sites.google.com/site/siriwansreetan/follow-me/blog/deathawarenesssaveourplanet?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1
หากพูดถึงพิธีหลังความตาย คนไทยหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงและคุ้นเคยกับ “พิธีงานศพของชาวพุทธ” มากกว่าพิธีงานศพของศาสนาอื่น เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มักนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักนั่นเองค่ะ ซึ่งพิธีงานศพนี้จะมีขั้นตอนในการปฏิบัติต่าง ๆ มากมาย และแต่ละขั้นตอนก็ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับคติความเชื่อและความหมายซ่อนอยู่อีกด้วยค่ะ วันนี้หรีดมาลามีเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับคติความเชื่อต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนมาฝากกันค่ะ
เหตุที่ “พิธีงานศพของชาวพุทธ” เป็นพิธีกรรมที่ชาวไทยพุทธรู้จักและคุ้นเคยกันอย่างดี นั่นเป็นเพราะคนไทยพุทธนั้นมีคติความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับ “ความตาย” ตามคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่ามนุษย์นั้นประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกันก็คือ “รูป” และ “จิต” ค่ะ ถึงแม้ว่าร่างกายจะแตกดับไปแล้ว แต่จิตก็ยังคงวนเวียนไปตามผลกรรมที่เคยกระทำเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่นั่นเองค่ะ นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดอีกด้วยว่าเมื่อใดที่เสียชีวิตลงก็จะต้องมีอีกโลกหนึ่งหรืออีกภพภูมิหนึ่งที่เราต้องเดินทางต่อไป ดังนั้นครอบครัวและญาติจึงต้องจัดพิธีงานศพสำหรับทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ เพื่อที่ว่าผู้ล่วงลับจะได้เดินทางไปสู่สุคติภูมิหรือภพภูมิที่ดีแทนการเกิดในทุคติภูมิหรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน ประกอบกับการจัดพิธีงานศพของชาวพุทธหลายวันเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยประคับประคองและเยียวยาความรู้สึกของญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นได้ผ่อนคลายความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักลงได้บ้าง และช่วยให้ตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิตที่ไม่แน่นอนได้อีกด้วยค่ะ
แต่เดิมนั้น การจัดพิธีงานศพของชาวไทยพุทธมีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อนและวุ่นวาย แต่ต่อมาด้วยปัจจัยในเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดงานที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจทำให้ลดขั้นตอนลงเหลือเพียง 4 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ด้วยกัน อันได้แก่ ขั้นตอนการอาบน้ำ / รดน้ำศพ, ขั้นตอนการบำเพ็ญกุศลและการสวดอภิธรรมศพ, ขั้นตอนการฌาปนกิจศพ และขั้นตอนการเก็บอัฐิ ซึ่งแต่ละขั้นตอนในพิธีนั้นล้วนแล้วแต่แฝงคติความเชื่อและสัจธรรมต่าง ๆ เพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงความตายและตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทนั่นเองค่ะ โดยคติความเชื่อเกี่ยวกับพิธีนี้สามารถจำแนกได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้คือ
Credit by: http://komsanvpr.lnwshop.com/article/263/quotทำไมต้องรดน้ำศพquot
1. การอาบน้ำศพ-รดน้ำศพ
มักจะทำกันก่อนนำศพใส่โลง เหตุที่ต้องรดน้ำศพก็เพราะต้องการให้ร่างกายของผู้ล่วงลับสะอาดและบริสุทธิ์ อีกทั้งตอนที่ผู้ล่วงลับเพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ ศพก็ยังสดและไม่มีกลิ่นหรือขึ้นอืด ทำให้ครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหาย รวมไปถึงผู้ที่ร่วมรดน้ำศพกล้าเข้าใกล้ค่ะ ซึ่งในสมัยโบราณจะทำการอาบน้ำศพจริง ๆ ด้วยน้ำที่ต้มด้วยหม้อดินที่ใส่ใบไม้ต่าง ๆ ลงไปด้วยอย่าง ใบหนาด (เชื่อกันว่าเป็นใบไม้ที่ผีกลัวและใช้ปัดรังควานได้), ใบส้มป่อย และใบมะขาม แต่ในปัจจุบันจะใช้วิธีรดน้ำศพด้วยน้ำมนต์แทน หรืออาจใช้น้ำอบไทยร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความหอมค่ะ ส่วนคติความเชื่อหรือปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในขั้นตอนการอาบน้ำศพ-รดน้ำศพว่า…เมื่อคนเราเสียชีวิตลงไปแล้ว การนำของหอมหรือน้ำอบน้ำมนต์ใด ๆ มารดก็ไม่อาจทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ ดังนั้นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ควรใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและหมั่นทำบุญทำความดีอยู่เสมอนั่นเองค่ะ
2. การแต่งตัวและหวีผมให้ศพ
เมื่อทำพิธีอาบน้ำศพแล้วก็จะทำการแต่งตัวและหวีผมให้ศพค่ะ ซึ่งการแต่งตัวให้ศพนี้จะแตกต่างจากการแต่งตัวของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ ให้แต่งตัวกลับทาง อย่างเช่น นุ่งผ้าซิ่นด้วยการกลับเอาฝั่งล่างขึ้นฝั่งบน ด้านหัวซิ่นไว้ด้านล่าง, นุ่งชายพกไว้ข้างหลัง, เสื้อที่สวมให้กลับข้างหน้าไว้ข้างหลัง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วการใช้เครื่องนุ่งห่มแต่งศพจะต้องใช้ของใหม่ทุกอย่างและต้องทำตำหนิทุกชิ้นหรือฉีกให้เสียหายบ้างเล็กน้อยค่ะ ส่วนการหวีผมให้ศพมีความเชื่อหลายนัย บ้างก็ว่าให้หวีเพียง 3 ครั้ง บ้างก็ว่าให้หวีแบบ 2 ซีก และเมื่อหวีผมเสร็จก็ต้องหักหวีออกเป็น 2 ท่อนทิ้งหรือใส่ไว้ในโลงศพค่ะ
3. การนำเงินใส่ปากศพ
เงินที่ใส่ปากศพนั้นบ้างก็ว่าให้วิญญาณของผู้ล่วงลับเพื่อติดตัวไว้ใช้เป็นค่าเดินทางไปสู่โลกหน้าหรือเป็นค่าจ้างสำหรับคนที่พายเรือพาดวงวิญญาณข้ามแม่น้ำไปสู่โลกของวิญญาณ บ้างก็ว่าสอนให้รู้จักใช้เงินอย่างเป็นประโยชน์ แบ่งกิน-แบ่งใช้ ทำบุญให้ทาน หรือบ้างก็ว่าให้สัปเหร่อเป็นค่าจ้างเผาค่ะ
Credit by: https://pantip.com/topic/37785414
4. การมัดตราสัง
“การมัดตราสัง” เป็นการใช้ด้ายสายสิญจน์ทำเป็นบ่วงมัดศพสามเปลาะที่คอ มือ และเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้ศพที่เก็บไว้หลายวันพองขึ้นอืดจนดันโลงแตก โดยมีกรวยดอกไม้ธูปเทียนผูกติดกับมือศพที่พนมไว้อยู่บริเวณหน้าอก เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีการฉีดฟอร์มาลีนหรือน้ำยารักษาศพไว้ไม่ให้เน่าพองอืดค่ะ ซึ่งคติความเชื่อที่แฝงอยู่ในขั้นตอนการมัดตราสังก็คือบ่วงมัดศพทั้งสามเปลาะนี้เปรียบได้กับกิเลสตัณหาทั้งสามประการที่คอยผูกรั้งคนเราให้ตกอยู่ในสังสารวัฏดังคำภาษิตไทยโบราณที่ว่า “ตัณหารักลูกเปรียบเหมือนบ่วงผูกรัดคอ ตัณหารักเมียเปรียบดั่งเชือกผูกศอก ตัณหารักข้าวของหรือทรัพย์สินเปรียบเสมือนห่วงรัดเท้า” นั่นเองค่ะ
5. การตั้งวางศพ
ไม่ว่าตั้งศพในสถานที่แห่งหนใดก็ตาม จะต้องหันศีรษะของศพไปทางทิศตะวันตกเสมอค่ะ ด้วยเหตุที่เชื่อกันว่าเป็นทิศของผู้ตายค่ะ นอกจากนี้ยังแฝงด้วยคติธรรมที่สอนให้พิจารณาว่า “ความตาย” นั้นเป็นการเสื่อมสิ้นไป เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ที่ตกทางทิศตะวันตกเสมอค่ะ
Credit by: https://nkcc.wordpress.com/2011/02/21/งานสวดอภิธรรมศพ/
6. การจัดงานบำเพ็ญกุศล
ขั้นตอนการจัดงานบำเพ็ญกุศลนั้นอาจกำหนดเป็น 3 วัน, 5 วัน หรือ 7 วัน ตามความสะดวกของเจ้าภาพค่ะ แต่หากผู้ล่วงลับเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติหรือก่อนวัยอันควรอาจตั้งบำเพ็ญกุศลก่อนอย่างน้อยหนึ่งคืนแล้วจึงทำฌาปนกิจให้เร็วที่สุดค่ะ ซึ่งการจัดงานบำเพ็ญกุศลนี้แม้ว่าจะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ แต่แท้จริงแล้วมีคติธรรมแฝงอยู่ก็คือเตือนสติให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและตระหนักถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร พร้อมกับเร่งขวนขวายทำความดีสะสมบุญกุศลเพื่อไปสู่สุคติในยามจากโลกนี้ไปนั่นเองค่ะ
7. การจัดงานฌาปนกิจศพ
งานฌาปนกิจศพนี้ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในพิธีงานศพของชาวพุทธเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากมีขั้นตอนมากมายและเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหายจะได้มาร่วมส่งผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายโดยพร้อมเพรียงกันค่ะ ซึ่งตามประเพณีแต่เดิมแล้วจะห้ามเผาศพในวันพระและวันศุกร์ เนื่องจากวันพระเป็นวันที่พระท่านมีกิจสงฆ์มากมายที่ต้องทำ ส่วนวันศุกร์จะถือว่าเป็นวันดี และคำว่า “ศุกร์” นี้พ้องเสียงกับคำว่า “สุข” นั่นเองค่ะ
จริง ๆ แล้วคติความเชื่อของขั้นตอนพิธีงานศพของชาวพุทธที่หรีดมาลายกมานั้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ ยังมีคติความเชื่อที่แฝงอยู่อีกมากมายค่ะ เพื่อน ๆ สามารถหาอ่านข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีก แล้วโอกาสหน้าหรีดมาลาจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “พิธีศพแบบคริสต์ศาสนา” กันต่อนะคะ