สวัสดีค่าคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์กันแล้ว คุณผู้อ่านมีแผนจะไปเที่ยวที่ไหนกันบ้างหรือเปล่าคะ ถ้ายังไม่มีแผนจะไปเที่ยวที่ไหน หรีดมาลาขอแนะนำ “วัดอนงคารามวรวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตคลองสานนั่นเองค่ะ แต่ระหว่าง
ที่พาชมวัดอนงคาราม หรีดมาลาจะเล่าเกี่ยวกับประวัติและเรื่องราวต่างๆ ของวัดแห่งนี้อย่างคร่าวๆ กันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็ตาม
มาเลยค่า…
วัดอนงคารามวรวิหาร หรือเรียกกันอย่างย่อๆ ว่า “วัดอนงคาราม (วัดอนงค์)” นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญและสวยงามอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครแล้ว ยังถือว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่มานานเกือบ 200 ปีเลยทีเดียว ซึ่งวัดอนงคารามแห่งนี้จัดว่าเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร และเป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสร้างวัดแห่งนี้ให้คู่กับวัดพิชยติการามของสามี หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า “วัดพิชัยญาติ” แต่เดิมนั้นวัดอนงคารามแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดน้อยขำแถม” เหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เป็นผู้สร้างขึ้น โดยใช้พื้นที่ในสวนกาแฟของท่านมาจัดสร้างขึ้น ต่อมาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ที่เป็นหลานนั้นเห็นว่าท่านผู้หญิงน้อยสร้างวัดอนงคารามค้างอยู่ ประกอบกับวัดมีพื้นที่น้อย
เกินไป จึงได้ยกที่ดินของท่านเพิ่มให้และทำการสร้างจนแล้วเสร็จในภายหลัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดอนงค์นิกายาราม” แต่ด้วยเหตุเพราะชาวบ้านเรียกชื่อนี้ยาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอนงคาราม” พอถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทางราชการได้ทำการสร้างถนนตัดผ่านตรงกลางวัดและชุมชนบริเวณโดยรอบวัดจึงทำให้เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสถูกแบ่งออกจากกัน ซึ่งมีลักษณะเหมือน “วัดอกแตก”
ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมและสิ่งสำคัญที่น่าสนใจต่างๆ ได้แก่…
- พระอุโบสถ ถือเป็นจุดเด่นของวัดเลยทีเดียว โดยสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทยที่มีการก่ออิฐถือปูน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบอย่างสวยงาม ส่วนช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ก็มีการลงรักประดับกระจก มีเสาพาไลรอบ ที่หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยลายปูนปั้น ซึ่งเป็นลายปูนปั้นที่มีความงดงามเช่นเดียวกับซุ้มประตูหน้าต่างของพระวิหาร นอกจากนั้นมีการเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางและรูปยักษ์ที่บานประตูหน้าต่าง และปิดทอง ล่องชาดบริเวณผนังภายในฝ้าเพดานอีกด้วย ส่วนภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 40 ซม. สูง 50 ซม. โดยประดิษฐานอยู่บนบุษบกเหนือฐานชุกชี ลงรักปิดทองทั้งองค์ ประดับกระจก มีลายกระจังทำด้วยโลหะ และมีพระพุทธรูปยืนที่หล่อด้วยโลหะปิดทอง 2 องค์คู่กันอยู่หน้าบุษบก ต่อมาในปี พ.ศ.2456 สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงบูรณะบุษบกและสร้างโคมกึ่งไฟฟ้าติดประจำผนังพระอุโบสถ
- พระวิหาร เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ส่วนช่อฟ้าและใบระกาลงรักประดับกระจก ระหว่างเสาระเบียงบริเวณประตูหน้าและประตูหลังประดับรวงผึ้งห้อย ที่หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นและมีลวดลายลงรักปิดทองอย่างสวยงาม บานประตูหน้าต่างสลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ผนังภายในและฝ้าเพดานมีการทาสีปิดทองล่องชาด มีภาพลายก้านแย่ง ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน พระนามว่า “พระพุทธจุลนาค” ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง5 เมตร สูง 3.4 เมตร หล่อด้วยโลหะ ลงรักปิดทอง และเป็นศิลปะแบบสุโขทัยที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัยในปี พ.ศ. 2492 นอกจากนั้นยังเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธมังคโล” ที่มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.15 เมตร สูง 2.20 เมตร ซึ่งจำลองแบบมาจากพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดนางนอง โดยตั้งอยู่ด้านหน้าของพระพุทธจุลนาค (พระประธาน) และมีพระอัครสาวกยืนทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
- พระมณฑป เป็นมณฑปที่มีความสวยงาม แปลกตา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับพระวิหาร โดยสร้างขนาบกับพระวิหารทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 หลัง คือ พระมณฑปหลังทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ที่จำลองแบบมาจากวัดราชาธิวาส ส่วนพระมณฑปหลังทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่หล่อด้วยโลหะ
- ศาลาการเปรียญ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ประดับกระจก
- ตู้พระไตรปิฎก นับว่าเป็นศิลปวัตถุที่งดงามของวัดอนงคารามชิ้นหนึ่งด้วยฝีมือของช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีลักษณะเป็นตู้ไม้ที่เขียนลายทองเป็นรูปขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ทางบก) และชลมารค (ทางน้ำ) ส่วนบานประตูเขียนรูปเป็นเรื่องพระมโหสถ ตอนข้าศึกมาล้อมเมือง
- พระแก้ว ประดิษฐานอยู่ในตึกสมเด็จคณะ 2 แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปแบบปูนปั้น ต่อมาปูนได้ถูกกะเทาะออกมาจนเห็นเนื้อแก้วข้างใน ซึ่งเป็นเนื้อแก้วต่างสี คือ สามารถเปลี่ยนสีได้ตามเวลาและมุมมอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว และสูงประมาณ 15-18 นิ้ว นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา
- พระเจดีย์ ทรวดทรงของพระเจดีย์เป็นแบบมณฑป มีอยู่ 2 องค์ด้วยกัน คือ องค์แรกตั้งอยู่ข้างพระวิหารด้านทิศเหนือ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระนามว่า “พระพุทธสรานุสรณ์” ส่วนอีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ข้างพระวิหารด้านทิศใต้ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่หล่อด้วยโลหะ
- ห้องสมุดประชาชนอนงคาราม แต่เดิมนั้นห้องสมุดแห่งนี้มีชื่อว่า “หอสมุดอุดมวิทยา” ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้มีส่วนร่วมในการสร้างเป็นอนุสรณ์สถานถวายแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) เพื่อเป็นแหล่งความรู้ของชุมชน และในปัจจุบัน ทางกรุงเทพมหานครได้จัดมุมหนึ่งภายในอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงนิทรรศการและเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนในเขตคลองสานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย นับได้ว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ
- กุฏิสงฆ์ เป็นเรือนมนิลาที่มีการออกแบบตัวเรือนและรั้วไว้อย่างสวยงาม ซึ่งรวบรวมพระพุทธรูปที่สำคัญและสิ่งของเครื่องใช้ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธมหาเถระ (นวม พุทธสโร) ไว้ที่กุฏิหลังหนึ่ง โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชม
และสักการะเฉพาะในวันเข้าพรรษและวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น
ในปัจจุบัน วัดอนงคารามเป็นวัดที่มีความสำคัญสำหรับคนไทย และรู้จักกันดีในนามว่า “วัดสมเด็จย่า” เนื่องจากนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทยนั้นตั้งอยู่ใกล้กับวัดอนงคารามนั่นเองค่ะ และเมื่อครั้งที่สมเด็จย่ายังทรงพระเยาว์ก็ได้เข้าศึกษาที่วัดอนงคาราม โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร)
เจ้าอาวาสวัดในเวลานั้นได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น หลังจากสมเด็จย่าทรงเข้าศึกษาได้ปีเดียวก็ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนศึกษานารี ซึ่งเป็นโรงเรียนในอุปการะของสมเด็จพระพุฒาจารย์เช่นกัน นับได้ว่าสมเด็จย่าทรงผูกพันกับชุมชนวัดอนงคารามมากเลยทีเดียว เพราะเป็นสถานที่ที่หล่อหลอมชีวิตของพระองค์ท่านให้ทรงมีความรอบรู้และก้าวไกลเกินสตรีในสมัยนั้น อัน
สืบเนื่องมาจากการศึกษาเล่าเรียนนั่นเองค่ะ
หลังจากเที่ยวชมวัดอนงคารามจนครบไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติโดยย่อของวัดอนงคารามแล้ว ถ้ามีเวลาว่างคุณผู้อ่านก็อย่าลืมไปแวะเที่ยวชมอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่เรียกกันอย่างง่ายๆ ว่า “สวนสมเด็จย่า” ส่วนวันนี้หรีดมาลาก็ขอตัวลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่ครั้งหน้านะคะ สวัสดีค่า
ขอบคุณข้อมูลจาก…