ก่อนที่ศาสนาพุทธ-พราหมณ์จะเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่เอเชียนอาคเนย์นั้น “ผี” เป็นผู้มีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนในพื้นที่อย่างมาก เพราะความเชื่อเรื่องผีนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยอธิบายปริศนาของคำถามที่ว่า ตายแล้วไปไหน ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น ก่อนที่ศาสนาพุทธและพราหมณ์จะเข้ามาอธิบาย หรีดมาลา ร้านออนไลน์ส่งพวงหรีดทั่วประเทศชวนผู้อ่านไปดูเรื่อง ผี ๆ ว่าน่าสนใจเพียงใด

บทบาทของผี

คำว่า “ผี” หรือ “วิญญาณ” เป็นมุมมองที่เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย แต่ในทางวิชาการ “ผี” ยังเชื่อมโยงกับ “ความศักดิ์สิทธิ์” และอำนาจเข้ามาผนวกรวมกัน ซึ่งอ้างอิงจาก “พลังสตรี ผี เฮี้ยน” จัดโดย Thai PBS ว่า “เราศรัทธา เรานับถือ เรายำเกรง เรากลัว อำนาจมีบทบาทในการควบคุมความคิดและพฤติกรรมผู้คน อำนาจมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตประเพณี ผีถูกเอามาใช้ในเรื่องของการสร้างอำนาจ การแสดงอำนาจ ส่วนอำนวยนั้นเป็นเรื่องการติดสินบนผี เราอยากได้อะไรเราก็วิงวอนขอร้องผี เราอยากได้อะไรเราก็เอาอกเอาใจผีและก็เป็นเพื่อนกับผี”

จากคำกล่าวข้างต้นทำให้ผีมีบทบาททั้งในเรื่องของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกัน กลายเป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญในกิจกรรมและนโยบาย โครงสร้างทางการเมืองของสังคมสมัยก่อนตั้งแต่ระดับใหญ่ไปจนถึงหน่วยย่อย ชีวิตประจำวันของสังคม ซึ่งความเชื่อนี้ลามไปถึงความบันเทิงของสังคมไปด้วย

หลักฐานความเชื่อของ “ขวัญ”

“ขวัญ” ในศาสนาผี

ผีอาจจะเป็นภาพใหญ่ที่ทุกคนมองถึง แต่ยังมีเรื่องของ “ขวัญ” ที่มีความสำคัญในมุมมองของศาสนาผี ซึ่งทางนักโบราณคดีเรียกว่า “พิธีศพครั้งที่สอง” ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวไปสิงตามสิ่งของ พืช เครื่องมือเครื่องใช้ หรือส่วนต่าง ๆ ของคนก็ได้ด้วย ซึ่งการที่คนตายนั้นเป็นเพราะขวัญหายออกจากร่างกายไป หรืออีกคำอธิบายหนึ่งคือขวัญไม่อยู่กับมิ่ง (มิ่งหมายถึงร่างกายของคน) หรือจะกล่าวในอีกประโยคหนึ่งว่า การที่คนตายนั้นเกิดจากขวัญออกจากร่างกายไปสิงสู่ที่ไหนก็ไม่ทราบได้ อาจจะเพราะหาทางเข้าร่างตนเองไม่เจอ จึงทำให้ในอดีตการประกอบพิธีศพจะจัดเหมือนเป็นงานรื่นเริงติดต่อกันหลายวัน เพื่อให้ขวัญที่หาทางกลับร่างไม่ได้เริ่มรู้ว่ามิ่งของตนนั้นอยู่ที่ไหน

วิญญาณ และ ขวัญ ต่างกันไหม

จากข้อมูลของอาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในบทความชื่อ โลกหลังความตายในศาสนาผี ถูกอธิบายด้วยพราหมณ์-พุทธ ว่า วิญญาณนั้นเป็นความเชื่อทางพุทธ-พราหมณ์ ซึ่งจะสอนว่าวิญญาณของแต่ละคนนั้นจะมีดวงเดียว เมื่อตายวิญญาณจะกลับไปเกิดใหม่หรือผ่านการชดใช้กรรมก่อนที่กลับไปเกิดใหม่ ส่วนร่างกายของคนตายนั้นก็จัดการเผาให้เหลือเพียงเถ้าถ่านก่อนนำไปโปรยทิ้ง ซึ่งตามขั้นตอนที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับขวัญในศาสนาผีว่า ไม่มีวิญญาณเหลือเมื่อคนตาย และไม่มีพิธีศพครั้งที่สอง

ส่วนขวัญในศาสนาผีนั้นเมื่อขวัญหายไปจากร่างกายทำให้คนตายกลายเป็นผี จึงต้องฝังคนตายเพื่อรอขวัญกลับเข้าร่าง แล้วสร้าง “เฮือนแฮ้ว” คร่อมหลุมฝังศพไว้เป็นที่สิงสู่ของผีเพื่อรอขวัญ ส่วนนี้เองเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีเรียกว่า “พิธีศพครั้งที่สอง”

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อผีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาพุทธและพราหมณ์

ทุกคนทราบอยู่แล้วว่า ผี อยู่ในแผ่นดินเอเชียอาคเนย์มาก่อนที่พระเจ้าอโศกมหาราชจะส่งศาสนทูตเข้ามาเผยแผ่ศาสนาพุทธ หรือก่อนที่ศาสนาพราหมณ์จากฝั่งนครวัด-นครธมจะเข้ามามีอิทธิพล แต่เมื่อผู้มาใหม่นั้นดูแข็งแรงและมีพลังอำนาจมากกว่า ผีในดินแดนแถบนี้จึงเริ่มปรับตัวให้เข้ากันได้กับผู้มาใหม่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ไทยให้ความเห็น “ศาสนาไทยมีผีเป็นแกนกลาง มีพุทธ-พราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้ม” คำกล่าวข้างต้นเป็นอีกหนึ่งทัศนะที่ชี้ให้เห็นว่า ผี ในดินแดนแถบนี้เป็นอันหนึ่งเดียวกับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการที่พระเกจิอาจารย์ใด ๆ ก็ยังคงใช้พิธีกรรมทางศาสนาที่เน้นบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกเหนือวิธีคำสั่งสอนของชาวพุทธดังที่ควรจะเป็น (The Momentum, ธนภาคย์ อิทธิชัยพล, รากเหง้าความเชื่อที่น่าฉงนของ ‘ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย’, 2021)

เป็นเกล็ดเล็ก ๆ เกี่ยวกับ คนตาย ที่หรีดมาลา ร้านออนไลน์ส่งพวงหรีดทั่วประเทศอยากขมวดปมมาเล่าโดยสังเขปพอเป็นเนื้อหาความรู้ให้ผู้สนใจไปร้อยเรียงศึกษาเรื่องราวในเชิงลึกต่อไปได้

หรีดมาลา


Warning: call_user_func_array() expects parameter 1 to be a valid callback, function 'replace_billing_time_with_dropdown' not found or invalid function name in /var/www/html/wp-includes/class-wp-hook.php on line 324