วัดประจำรัชกาลแห่งราชวงศ์จักรีเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ปฐมกษัตริย์แล้ว โดยส่วนมากมักเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นหรือบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่คนไทยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยทราบว่ามีวัดใดบ้าง และวัดดังกล่าวมีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลอย่างไร วันนี้ “หรีดมาลา” จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับวัดประจำแต่ละรัชกาลกันค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 1 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดโพธิ์” ตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังระหว่างถนนมหาราชและถนนสนามไชย ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหารค่ะ ซึ่งเหตุที่วัดโพธิ์กลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ก็เพราะวัดโพธิ์มีชื่อเดิมว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและรกร้างกันไป แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” พอมาถึงในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนคำสร้อยท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
วัดประจำรัชกาลที่ 2 วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดแจ้ง” ตั้งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จากหลักฐานแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีชื่อว่า “วัดมะกอกนอก” และเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีและเสด็จมาถึงวัดนี้ตอนรุ่งแจ้งจึงพระราชทานนามวัดใหม่นี้ว่า “วัดแจ้ง” แต่พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้สร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในวัดเพิ่มขึ้น เช่น พระอุโบสถ, พระวิหาร, พระพุทธรูปที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นต้น และพระราชทานนามวัดใหม่นี้ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ แต่สร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 4 และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” พร้อมทั้งอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร หรือพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระราชอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถอีกด้วยค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 3 วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือ “วัดราชโอรส” ตั้งขึ้นอยู่ริมคลองสนามไชยฝั่งธนบุรีที่ติดคลองบางหว้า เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดจอมทอง” แต่ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดใหม่จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ว่า “วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” ที่หมายถึง “วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ทั้งพระอารามและถวายเป็นพระอารามหลวงแด่พระราชบิดา ตามคำตรัสอธิษฐานของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ภายหลังจากทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และทรงหยุดกระบวนทัพเรือมาประทับแรมที่วัดจอมทอง ฝั่งธนบุรีที่ว่า “หากพระองค์ทรงได้รับชัยชนะจากการไปราชการทัพกับพม่า พระองค์จะทรงสร้างวัดขึ้นมาใหม่” ค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 4 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ข้างวังสราญรมย์ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณ เพื่อพระราชอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย และเพื่อให้พระองค์เอง เจ้านายทุกพระองค์ รวมไปถึงข้าราชการได้เดินทางไปบำเพ็ญกุศลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ซึ่งวัดแห่งนี้แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” แต่เมื่อสร้างเสร็จจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” ค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับกระทรวงมหาดไทยบนถนนเฟื่องนคร ถือเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณประเพณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่รำลึกถึงพระอัครมเหสีพระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ และพระราชทานนามว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) ควบคุมการก่อสร้างวัดแห่งนี้ค่ะ มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ภายนอกจะเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก และนอกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามจะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 แล้วยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้มีการสร้างวัดประจำพระองค์ แต่ทรงมีพระราชศรัทธาในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยเช่นกัน จึงถือว่าเป็นวัดประจำพระองค์ด้วยเช่นกันค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณบางลำพู บนนถนนพระสุเมรุ ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการผสมผสานระหว่างศิลปะชาติตะวันตก จีน และไทยได้อย่างลงตัว ซึ่งวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ แต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน และหลังจากที่วัดแห่งนี้สร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า “วัดบวรนิเวศวิหาร” หรือเรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่า “วัดบน” และทรงนิมนต์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นยังทรงผนวชอยู่ ณ วัดราชาธิวาสมาเป็นเจ้าอาวาส รวมไปถึงทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรกอีกด้วยค่ะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบวัดรังษีสุทธาวาสรวมเข้ากับวัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดเดียวกัน พร้อมทั้งทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และนอกจากวัดบวรนิเวศวิหารจะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 แล้วยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 ด้วยค่ะ เนื่องจากเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช และจำวัดที่วัดแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2499 ค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 8 วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า ซึ่งวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้น เพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) พระพุทธรูปที่ทิ้งร้างไว้และอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย และพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดมหาสุทธาวาส” แต่การสร้างพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน มาแล้วเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์จึงพระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” และเหตุที่วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 ก็เพราะภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 มาบรรจุไว้ที่ผ้าทิพย์ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีในปี พ.ศ.2493 นั่นเองค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 10 วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร
วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือ “วัดทุ่งสาธิต” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2399 โดย “นายวันดี” คหบดีชาวลาวที่อพยพจากเมืองเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง ต่อมาวัดแห่งนี้กลายเป็นวัดร้างเนื่องจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพและไม่มีใครมาสืบสานต่อ แต่พอมาถึงปี พ.ศ. 2506 วัดทุ่งสาธิตก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้สวยงามดังเดิม และในวันที่ 9 กันยายน 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ และพระราชทานนามว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” โดยมีพระอาจารย์สาธิต ฐานวโร เป็นผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายวัดทุ่งสาธิตแด่พระองค์ค่ะวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือ “วัดทุ่งสาธิต” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2399 โดย “นายวันดี” คหบดีชาวลาวที่อพยพจากเมืองเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง ต่อมาวัดแห่งนี้กลายเป็นวัดร้างเนื่องจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพและไม่มีใครมาสืบสานต่อ แต่พอมาถึงปี พ.ศ. 2506 วัดทุ่งสาธิตก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้สวยงามดังเดิม และในวันที่ 9 กันยายน 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ และพระราชทานนามว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” โดยมีพระอาจารย์สาธิต ฐานวโร เป็นผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายวัดทุ่งสาธิตแด่พระองค์ค่ะ
หลังจากที่ “หรีดมาลา” ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับวัดประจำรัชกาลตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 10 แล้ว หากใครมีเวลาว่างก็ลองเข้าไปเที่ยวชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดกันด้วยนะคะ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตค่ะ
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ร้านพวงหรีดออนไลน์ หรีดมาลา สั่งพวงหรีด คลิก!