ประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศที่ถือได้ว่ามีวัดศักดิ์สิทธิ์อยู่มากมายเกือบทั่วประเทศที่กระจายไปตามจังหวัดและภูมิภาคต่าง ๆ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่ามีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่คนส่วนใหญ่จะต้องมากราบไหว้สักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน ความรัก สุขภาพ และอื่น ๆ วันนี้หรีดมาลาจะพาทุกคนไปทำบุญและทำความรู้จักกับวัดดังกล่าวทั้ง 10 แห่งกันค่ะว่ามีวัดแห่งใดกันบ้าง
1. ศาลหลักเมือง
“ศาลหลักเมือง” ตั้งอยู่เยื้อง ๆ กับพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามกับสนามหลวง แม้ว่าจะไม่ใช่วัดซะทีเดียว แต่ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านานเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากเป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติของพราหมณ์มีความเชื่อกันว่าก่อนจะมีการสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ซึ่งศาลหลักเมืองนี้นอกจากจะมีเสาหลักเมืองแล้ว ภายในยังประดิษฐานเทพารักษ์สำคัญ 5 องค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เพื่อปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองและสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ หากได้มีโอกาสไปกราบไหว้ขอพรเสาหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งหลายแล้ว จะสามารถสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา เพิ่มวาสนาหรือบารมีให้แก่ชีวิต และช่วยให้การงานอาชีพมีความก้าวหน้ารุ่งเรืองขึ้นค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.30 – 18.30 น.
2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
เดินเขยิบมาอีกนิดไม่ไกลจากศาลหลักเมืองมากนักก็ถึง “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือเรียกกันอย่างทั่วไปว่า “วัดพระแก้ว” แล้วค่ะ ซึ่งวัดพระแก้วนี้ถือเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน เนื่องจากเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และเป็นพระอารามหลวงชั้นพิเศษในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง มักใช้เฉพาะในการประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญต่าง ๆ จึงทำให้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ค่ะ โดยวัดพระแก้วนี้นอกจากจะมีพระพุทธรูปและงานศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ที่วิจิตรงดงามแล้ว ภายในพระอุโบสถยังมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประดิษฐานไว้ด้วย เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้พระแก้วมรกตจะช่วยให้มีแก้วแหวนเงินทองต่าง ๆ มากมายมหาศาลเลยล่ะค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. (ปิดการจำหน่ายตั๋วเวลา 15.30 น.)
ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับชาวต่างชาติต้องซื้อตั๋วชุด ชุดละ 500 บาท / ท่าน โดยสามารถเข้าชมได้ทั้งวัดพระแก้ว, พระบรมมหาราชวัง, พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง, พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระที่นั่งอนันตสมาคม สามารถใช้ได้ภายใน 7 วัน เด็กที่ความสูงต่ำกว่า 120 เซนติเมตร เข้าชมฟรี
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
Credit by: https://www.facebook.com/watphonews/
หากเดินย้อนมาอีกหน่อยก็จะถึง “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” กันแล้วค่ะ ซึ่งวัดโพธิ์นี้เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว เพราะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี โดยภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจสำคัญ อย่างเช่น พระเจดีย์จำนวน 99 องค์ที่ตั้งอยู่รอบ ๆ วัด ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบโบราณลวดลายดอกไม้สีสันสวยงาม ถือว่าเป็นวัดแห่งเจดีย์ที่มีพระเจดีย์มากที่สุดของไทย, พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู เรียกได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ขนาดองค์พระยาวประมาณ 46 เมตร สูง 15 เมตร โดดเด่นด้วยศิลปะการประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการที่ฝ่าพระบาท ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์, “พระพุทธเทวปฏิมากร” เป็นพระประธานในพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นต้น ตามโบราณเชื่อกันว่าหากไปกราบไหว้พระขอพรที่วัดโพธิ์จะช่วยให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข มีความสำเร็จ มีโชคลาภ และสำหรับสาวโสดอายุใกล้เลข 3 ที่ต้องการสมหวังในความรัก แนะนำให้มาไหว้สักการะขอพรกับพระนอน เพราะเชื่อว่าเลข 3 มีความหมายว่าพระนอน และเปรียบเสมือนความรักของหญิงสาวตามศาสตร์ความเชื่ออีกด้วยค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.30 น.
ค่าเข้าชม : คนไทยฟรี!!! / ชาวต่างชาติ 100 บาท
4. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
Credit by: http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watarun.php
นั่งเรือข้ามฝั่งมาที่ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดแจ้ง” กันบ้างดีกว่า ซึ่งวัดแจ้งเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถือว่าเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี โดยภายในวัดแจ้งมีสิ่งที่น่าสนใจสำคัญหลายอย่าง ได้แก่ พระปรางค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูนสีขาวล้วนโดดเด่นเป็นสง่าและมองเห็นได้ในระยะไกล, พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระประธานในพระอุโบสถที่มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย, พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระประธานในพระวิหาร เป็นต้น ตามโบราณเชื่อกันว่าหากเข้าไปสักการะพระประธานภายในวัด และเดินรอบพระปรางค์ครบทั้ง 3 รอบ จะช่วยให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งอาชีพการงาน ปัดเป่าภัยร้าย และช่วยให้การเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น.
ค่าเข้าชม : เสียค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติคนละ 50 บาท
5. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
Credit by: https://www.facebook.com/WatKanlayanamitra/
เดินทางต่อมาสักหน่อยก็อย่าพลาดที่จะเข้าไปกราบไหว้พระที่ “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” วัดศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งกันด้วยนะคะ ซึ่งวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารหรือเรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่า “วัดกัลยาณมิตร” นี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร และเป็นวัดเก่าแก่ที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพื่อสร้างวัดน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” ที่แปลว่า “มิตรดี เพื่อนดี” นั่นเองค่ะ ส่วนภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” (พระโต / หลวงพ่อโต) หรือคนจีนเรียกกันว่า “หลวงพ่อซำปอกง” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย จำลองมาจากหลวงพ่อโตที่วัดพนัญเชิงฯ จ.อยุธยา เชื่อกันว่าหากมาสักการะหลวงพ่อโต หรือกราบไหว้ขอพร จะช่วยให้มีมิตรไมตรี โชคดีมีชัยตลอดทั้งปี และเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัยค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.
6. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
Credit by: https://www.facebook.com/watrakhang.official/
เดินทางต่อมาอีกนิดก็มาถึง “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” กันแล้วค่ะ ซึ่งวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารหรือเรียกอย่างย่อ ๆ ว่า “วัดระฆัง” เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดบางหว้าใหญ่” ต่อมาในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้ ๆ กัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าใหญ่พร้อมกับยกให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร พอมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด โดยตัวระฆังที่ขุดพบนั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสร้างระฆังใบใหม่ชดเชยให้แก่วัดบางหว้าใหญ่ 5 ลูก พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” หากได้มีโอกาสไปสักการะ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” ต้นกำเนิดแห่งพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ผู้คนรู้จักและศรัทธากันทั่วประเทศ และพระประธานภายในพระอุโบสถ เชื่อกันว่าจะทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดทั้งปี
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
7. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
Credit by: https://www.facebook.com/วัดชนะสงคราม-ราชวรมหาวิหาร-1140982025935444/
หลังจากกราบไหว้พระขอพรที่วัดระฆังฯ แล้วเดินทางต่อไปยัง “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” กันบ้างค่ะ ซึ่งวัดชนะสงครามนี้เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับถนนข้าวสาร ถือได้ว่าเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดกลางนา” เนื่องจากมีทุ่งนากว้างใหญ่ล้อมรอบบริเวณวัด ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ขึ้นทั้งหมดและยกให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร พร้อมทั้งพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ทรงได้รับชัยชนะจากการทำสงครามรบกับพม่าถึง 3 ครั้ง เชื่อกันว่าหากมีโอกาสไปสักการะพระประธานในพระอุโบสถจะช่วยให้สามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต หรือมีชัยชนะเหนือศัตรูทั้งปวงค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.
8. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
Credit by: https://www.facebook.com/watsraket/
เดินมาอีกไม่ไกลมากนักก็ถึง “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดภูเขาทอง” กันแล้วค่ะ ซึ่งวัดภูเขาทองเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งและเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหารที่ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค ถือได้ว่าเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมเรียกว่า “วัดสะแก” ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสระเกศ” พอถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะและสร้าง “พระบรมบรรพต” หรือ “ภูเขาทอง” ขึ้นเป็นพระปรางค์ได้อย่างโดดเด่นเป็นสง่า แต่สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 5 เชื่อกันว่าหากได้ขึ้นไปสักการะครั้งหนึ่งในชีวิตจะทำให้มีเงินทองก่ายกองเท่าภูเขาค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30 – 19.00 น.
ค่าเข้าชม : เสียค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ 50 บาท / คน
9. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
Credit by: https://www.facebook.com/WatSuthatBangkok/
เดินทางต่อไปอีกหน่อยก็ถึงวัดศักดิ์สิทธิ์อย่าง “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดสุทัศน์” ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้ากันแล้วค่ะ ซึ่งวัดสุทัศน์นี้นอกจากเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร แล้วยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 อีกด้วยค่ะ วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยให้สร้างพระวิหารขึ้นมาก่อน เพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ที่อัญเชิญมาจากจังหวัดสุโขทัย แต่ไม่ทันได้สร้างแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน และมาก่อสร้างแล้วเสร็จ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ได้พระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจอย่าง “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในพระวิหารหลวง กับ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระอุโบสถ ตามความเชื่อของคนไทยที่ยึดถือกันต่อ ๆ มา เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้ขอพรที่วัดแห่งนี้จะช่วยให้มีความคิดและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลค่ะ
เปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.30 น.
ค่าเข้าชม : เสียค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ 20 บาท / คน
10. ศาลเจ้าพ่อเสือ
Credit by: https://th.tripadvisor.com/
วัดศักดิ์สิทธิ์แห่งสุดท้ายที่จะพาทุกคนมากราบไหว้ขอพรก็คือ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” นั่นเองค่ะ อยู่ไม่ไกลจากเสาชิงช้ามากนัก ถึงแม้ว่าศาลเจ้าพ่อเสือจะไม่ใช่วัด แต่ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้กันเลยค่ะ ซึ่งศาลเจ้าพ่อเสือนี้เป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุด คนจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า “ตั่วเหล่าเอี๊ย” สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ประดิษฐานองค์ประธาน “เฮี้ยงเทียนเซียงตี่” (เจ้าพ่อใหญ่), เจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู, เจ้าพ่อเห้งเจีย, ไฉ่ซิงเอี๊ยะ และเจ้าแม่ทับทิม โดยส่วนใหญ่คนไทยเชื้อสายจีน, คนจีน และคนทั่วไปมักนิยมมาไหว้เพื่อเสริมดวงชะตา, แก้ชง, เสริมอำนาจบารมี, มีความสำเร็จในด้านหน้าที่การงาน การเงิน / โชคลาภ หรือถ้าจะมาขอพรเรื่องลูกก็ได้เช่นกันค่ะ ส่วนสิ่งของที่ใช้ในการกราบไหว้จะเป็นหมูสามชั้น, ไข่สด และข้าวเหนียวหวานวัดศักดิ์สิทธิ์แห่งสุดท้ายที่จะพาทุกคนมากราบไหว้ขอพรก็คือ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” นั่นเองค่ะ อยู่ไม่ไกลจากเสาชิงช้ามากนัก ถึงแม้ว่าศาลเจ้าพ่อเสือจะไม่ใช่วัด แต่ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้กันเลยค่ะ ซึ่งศาลเจ้าพ่อเสือนี้เป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุด คนจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า “ตั่วเหล่าเอี๊ย” สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ประดิษฐานองค์ประธาน “เฮี้ยงเทียนเซียงตี่” (เจ้าพ่อใหญ่), เจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู, เจ้าพ่อเห้งเจีย, ไฉ่ซิงเอี๊ยะ และเจ้าแม่ทับทิม โดยส่วนใหญ่คนไทยเชื้อสายจีน, คนจีน และคนทั่วไปมักนิยมมาไหว้เพื่อเสริมดวงชะตา, แก้ชง, เสริมอำนาจบารมี, มีความสำเร็จในด้านหน้าที่การงาน การเงิน / โชคลาภ หรือถ้าจะมาขอพรเรื่องลูกก็ได้เช่นกันค่ะ ส่วนสิ่งของที่ใช้ในการกราบไหว้จะเป็นหมูสามชั้น, ไข่สด และข้าวเหนียวหวานเปิดบริการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.00 น.
เมื่อทราบข้อมูลของวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องไปสักการะครั้งหนึ่งในชีวิตทั้ง 10 แห่งที่หรีดมาลาแนะนำกันไปแล้วก็อย่าลืมหาเวลาว่าง ๆ ไปทำบุญไหว้พระกันด้วยนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยให้จิตใจของเราอิ่มบุญไปด้วยแล้วยังเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตของเราค่ะ
“หรีดมาลา” บริการจัดส่งพวงหรีดวัดดังทั่วกรุง พวงหรีดวัดพระศรีมหาธาตุ | พวงหรีดวัดธาตุทอง | พวงหรีดวัดศรีเอี่ยม ฟรีค่าจัดส่ง